วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

          สวัสดีคะ เพื่อนชาว IT วันนี้มาพบกันอีกแล้วนะคะ แล้วเราก็มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับ IT มาฝากเช่น เคย สำหรับวันนี้นะคะ เราจะมารีวิว กระบวนการเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนการนี้ว่า การบู๊ต (Boot) นั่นเอง

       
          กระบวนการทำงาน
                 1. การทำงานจะเริ่มต้นขึ้นทันที เมื่อเรากดที่ ปุ่ม Power switch คอมพิวเตอร์จะส่งสัญญาณไปยัง Power supply และ Power supply จะส่งสัญญาณไปให้ CPU เริ่มทำงาน ซึ่ง Power supply จะทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์

                 2. CPU จะสั่งให้ (BIOS : Basic input/output system) ทำงานทันที ที่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายมายังคอมพิวเตอร์ และส่งสัญญาณให้เริ่มการทำงาน หน่วยประมวลกลางหรือซีพียูจะพยายามเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในไบออสเพื่อทำงานตามชุดคำสั่งที่เก็บไว้โดยทันที

              3. เริ่มทำงานตามกระบวนการที่เรียกว่า POST (power on self test) เป็นโปรแกรมส่วนหนึ่งในไบออสซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ด , RAM , ซีพียู รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ  และจะมีสัญญาณเตือนเมื่อเกิดข้อผิดพลาดเช่น ถ้ามีเสียงยาว 1 ครั้ง สั้น 3 ครั้ง แสดงว่าการ์ดจอมีปัญหา ทั้งนี้ไบออสแต่ละรุ่นก็มีรหัสสัญญาณที่แตกต่างกัน

              4. ผลลัพธ์จากกระบวนการ POST จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อยู่ในซีมอส ข้อมูลของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งแล้วในเครื่องหรือค่า configuration จะถูกเก็บอยู่ในหน่วยความจำที่เรียกว่า ซีมอส (CMOS – complementary metal oxide semiconductor ) ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณเล็กน้อยในการหล่อเลี้ยง โดยใช้แบตเตอรี่ตัวเล็ก ๆ บนเมนบอร์ด เพื่อให้เครื่องสามารถจำค่าต่าง ๆ ไว้ได้ ผลลัพธ์จากกระบวนการ POST นี้ จะถูกนำมาตรวจสอบกับข้อมูลซีมอส ถ้าถูกต้องตรงกันก็ทำงานต่อได้ ไม่เช่นนั้นต้องแจ้งผู้ใช้ให้แก้ไขข้อมูลก่อน   

              5. ไบออสจะอ่านโปรแกรมสำหรับบู๊ตจากฟล็อปปี้ดิสก์ ซีดีหรือฮาร์ดดิสก์ ขั้นถัดไปไบออสจะเข้าไปอ่านโปรแกรมสำหรับการบู๊ตระบบปฏิบัติการจากเซกเตอร์แรกของฮาร์ดดิสก์ ฟล็อปปี้ดิสก์ หรือซีดีรอม โดยที่ไบออสจะมีความสามารถในการติดต่อกับอุปกรณ์เหล่านั้นได้

              6. โปรแกรมส่วนสำคัญจะถูกถ่ายค่าลงหน่วยความจำ RAM เมื่อไบออสรู้จักระบบไฟล์ของไดรว์ที่บู๊ตได้แล้วก็จะไปอ่านโปรแกรมส่วนสำคัญของระบบปฏิบัติการที่เรียกว่าเคอร์เนล ( kernel ) เข้ามาเก็บในหน่วยความจำหลักหรือ RAM ของคอมพิวเตอร์เสียก่อน

              7. ระบบปฏิบัติการในหน่วยความจำเข้าควบคุมเครื่องและแสดงผลลัพธ์ Kernel ถูกถ่ายโอนลงหน่วยความจำ และเข้าไปควบคุมการทำงานคอมพิวเตอร์โดยรวมและโหลดค่า configuration ต่างๆพร้อมทั้งแสดงผลออกมาที่เดสก์ท็อปของผู้ใช้เพื่อรอรับคำสั่งการทำงานต่อไปซึ่งปัจจุบันในระบบปฏิบัติใหม่ๆจะมี GUI ที่เหมาะกับผู้ใช้ทั่วๆไป

                  เพื่อให้เข้าใจการทำงานมากขึ้น ดูภาพขั้นตอนการบู๊ตเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังภาพคะ




               ประเภทของการบู๊ตเครื่อง ดังที่อธิบายแล้วว่าการบู๊ตเครื่อง คือ ขั้นตอนที่คอมพิวเตอร์เริ่มทำการโหลดระบบปฏิบัติการเข้าไปไว้ในหน่วยความจำ RAM ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น2ลักษณะด้วยกันคือ
              โคลด์บู๊ต ( Cold boot ) เป็นการบู๊ตเครื่องที่อาศัยการทำงานของฮาร์ดแวร์ โดยการกดปุ่มเปิดเครื่อง ( Power On ) แล้วเข้าสู่กระบวนการทำงานโดยทันที ปุ่มเปิดเครื่องนี้จะอยู่บนตัวเคสของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ปิดเปิดการทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเหมือนกับสวิทช์ของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป
                  วอร์มบู๊ต ( Warm boot ) เป็นการบู๊ตเครื่องโดยทำให้เกิดกระบวนการบู๊ตใหม่หรือที่เรียกว่า การรีสตาร์ทเครื่อง ( restart ) โดยมากจะใช้ในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ (เครื่องแฮงค์) ซึ่งจำเป็นต้องมีการบู๊ตเครื่องกันใหม่ สามารถทำได้สามวิธีคือ
                  - กดปุ่ม Reset บนตัวเครื่อง (ถ้ามี)
                  - กดปุ่ม Ctrl + Alt + Delete จากแป้นพิมพ์ แล้วเลือกคำสั่ง restart จากระบบปฏิบัติการที่ใช้ 
                  - สั่งรีสตาร์ทเครื่องจากเมนูบนระบบปฏิบัติการ

*** กระบวนการ POST ของเมนบอร์ด คือ การตรวจสอบความพร้อมของระบบโดยรวมของตัวเมนบอร์ดและอุปกรณ์ที่สำคัญของระบบก่อนที่จะทำการเริ่มระบบปฎิบัติการของคอมพิวเตอร์ของคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำการดำเนินการโดยทันทีเมื่่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์

       วันนี้ดิฉันก็ขอจบการรีวิวเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ แล้วสัปดาห์หน้าจะเรื่องเกี่ยวกับ IT หรือวิธีอะไรมาให้เพื่อนๆดูอีก รอติดตามสัปดาห์หน้านะคะ ส่วนสัปดาห์นี้ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ ขอบคุณคะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น